การเมืองไทยในวันนี้ เหมือนท้องฟ้าที่ไร้เมฆหมอก มองเห็นชัดแจ๋ว ว่าอะไรเป็นอะไร และจะเป็นอย่างไรต่อ
ขอสรุปเลยว่า เป็นการเมืองที่ทหาร “จัดการ” ได้อยู่หมัด อยู่มือแล้ว และหากเศรษฐกิจไม่พินาศคามือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะความ “ไร้ฝีมือ” เสียก่อน ท่านอยู่ยาวครบ 2 เทอม ตามที่แต่งบทเฉพาะกาลใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญ ให้ สว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี อย่างแน่นอน
นอกจากเศรษฐกิจ หรือการถอนคืนของ “สัญลักษณ์” บางอย่างแล้ว ไม่มีอะไรจะ “ล้มประยุทธ์” ได้อีก
อธิบายได้ว่า รัฐบาลปัจจุบัน คือ รัฐบาลทหารซ่อนรูปที่เอานักการเมืองมาเจือ เพื่อหา “จุดร่วม” ที่ลงตัว แล้วเดินหน้า “กุมอำนาจ” อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัย “เวลา” ฆ่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่ “ภูมิต้านทานต่ำ” ผสมผสานไปกับการ “ควบรวม” จนในที่สุด ทหารกำลังขึ้นถึงจุด“กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ” ได้แล้ว
จะบอกว่าทหารวางแผนไว้ทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะจุดเริ่มต้นมันเกิดจากความล้มเหลวของนักการเมืองเอง
สรุปความล้มเหลวสะสมโดยลำดับคือ
1) รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” คือรัฐบาลที่ “แข็งแรง”ที่สุด โดยอาศัย “ทุน” ยึดกุม “นักการเมือง” ที่ไม่มีอุดมการณ์แน่ชัด ไม่มีสังกัดที่ติดยึด ร่อนเร่ อพยพ โยกย้ายไปได้เรื่อยๆ เหมือนนกหนีหนาว หาความอบอุ่น และที่มี “อาหารสมบูรณ์” นักการเมืองจำพวกนี้ปรับตัวง่ายและ “ตายยาก” มีวิธีบริหารตัวเองให้ได้อยู่กับขั้วอำนาจได้เสมอ และจะมีเก้าอี้รัฐมนตรีเป็น
2) ทักษิณเองก็เก่ง ที่ “ควบคุม” นักการเมืองจำพวกดังกล่าวให้อยู่ในโอวาทได้ ไม่มีใครกล้าหือ ไม่มีใครกล้าแตกแถว นายหญิง-นายใหญ่ บอกให้ไปทางไหนก็ไปทางนั้น เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด จนเกิดความลำพอง เปลี่ยนผันเสถียรภาพดังกล่าวไปสู่การกอบโกย
3) นอกเหนือจากจัดการ “นักการเมือง” จน “เป็นใหญ่ในสภา” ได้ ยังรุกคืบเข้าไปสู่ “วุฒิสภา” ตามมาด้วยองค์กรอิสระ และประชาชน ทักษิณ “เอาอยู่หมด” จนกระทั่งมาแตกคอกับ “สื่อใหญ่” รายหนึ่งกระบวนการ “โค่นทักษิณ” จึงเกิดขึ้น ด้วยประเด็น “ทุจริตคอร์รัปชั่น” โดยมี “ฝ่ายค้านมืออาชีพ” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ตรวจสอบอยู่ในสภา มีสื่อที่ค่อยๆ ลำเลียงข้อมูลเข้าสู่ความรับรู้ของคน จนเกิดเป็น “มวลชนจำนวนมาก” ขึ้นมา และเล่าเรื่องคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ราวกับเป็นละครยอดฮิตที่ “ฉายรายวัน”
4) เมื่อถูกแฉก็ลนลาน ประสานกันอย่างเดิมไม่ได้แล้วก็เลือกใช้กฎหมาย องค์กรอิสระ ตำรวจ เข้าเล่นงาน จำได้ไหมครับ ในยุครัฐบาลทักษิณ สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งถูกคุกคาม ด้วยการปิดรายการ ด้วยการถูกตรวจสอบทรัพย์สินด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องรัฐบาลสร้าง “ศัตรูนอกสภา” ขึ้นมาโดยควบคุมตัวเองไม่อยู่ เหมือนกันที่ถูกกล่าวหาเช่นกันว่า “ควบคุมความโลภ” ของตัวเองไม่ได้ สุดท้ายเกิด “การทุจริตเชิงนโยบาย” และนวัตกรรมแห่งการทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมาย สุดท้ายเมื่อทหารกรีธาทัพออกมายึดอำนาจ แม้ในกองทัพ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมี“คนนิยมทักษิณ” อยู่เยอะแยะมากมาย ก็ต้านการรัฐประหารตอนนั้นไม่ไหว ซึ่งจนถึงวันนี้ คดีทุจริตของทักษิณและพวกที่รอเพียงได้ตัวจำเลยมาเมื่อไหร่ ก็เปิดศาลพิจารณาได้เมื่อนั้นมีตั้งมากมายหลายคดีที่ค้างอยู่ในระบบ เพราะจับทักษิณมาขึ้นศาลไม่ได้
5) คณะรัฐประหารขณะนั้น เลือกที่จะแยกตัวเองออกไปจากการบริหารประเทศ จึงได้ตั้งรัฐบาล “ขิงแก่” ขึ้นมา ซึ่งก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เกิดรัฐบาลที่“มีประสิทธิภาพ” ในการ “เปลี่ยนแปลงความอยู่ดีกินดี” ให้แก่ประชาชนได้เท่ากับรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกสนับสนุน พวกกับความสามารถในการบริหารและจัดการกับความรู้สึกของประชาชนได้เป็นอย่างดี เสียแต่มีการแสวงประโยชน์มากเกินไปเท่านั้น
6) เมื่อเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายทักษิณก็ยังชนะการเลือกตั้ง เพราะประชาชนยังโหยหารัฐบาลที่ “โกงก็ไม่เป็นไร แต่เขายังแบ่งให้เรา” ค่านิยมแบบนี้ก่อตัวขึ้นในพื้นที่การเมืองของไทย ประชาชนสมคบกับนักการเมืองได้โดยไม่สนใจพฤติการณ์แบบ “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” บนตรรกะผิดๆ ว่า “นักการเมืองคนไหนไม่โกง” หรือ “นักการเมืองมันก็เลวกันทั้งนั้น” พูดได้ว่า รัฐบาลทักษิณ ทำให้ประชาชนเสพติด “ประชานิยม” และ “การหว่านเงินลงสู่หมู่บ้าน” มีกองทุนปรนเปรอประชาชนที่ไม่สร้างผลิตภาพเพิ่มขึ้นมากมาย เงินสะพัด เพราะชาวบ้านมี “นักการเมืองเป็นสะพาน” ทอดสู่คลังหลวง ผิดกับก่อนหน้านั้นประชาชนรู้แล้วว่า ถ้าเราต่อรอง เราสมคบให้ถูกคน เราจะได้ แต่วิธีการและกมลสันดานเป็นอย่างไรก็ช่าง เพราะยังไง มันก็“เลวทุกคน” อยู่แล้ว
7) หลังถูกรัฐประหาร เครือข่ายของรัฐบาลทักษิณและพวก ได้สร้าง “ปีศาจ” ขึ้นมาเป็น “ศัตรูร่วม” เพื่อสร้างพลังมวลชนปกป้องทักษิณ เรียกหาทักษิณ และฝังความเชื่อว่า“อำมาตย์” มัน “อิจฉา” จึงหาทางโค่นทักษิณลง โดยอาศัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นภาพสมมุติ นั่นจึงเป็นที่มาของคดีบุกบ้านสี่เสาฯ ติดตาราง 2 ปี 8 เดือน กันเมื่อวันก่อน ซึ่งเป็นการพิพากษาของศาลสุดท้าย โดยที่คดีเดียวกัน ยังแยก“จตุพร พรหมพันธุ์” ไว้ โดยไม่ได้ฟ้องรวมกับพวกที่เข้าคุกไปแล้ว (ส่งฟ้องทีหลัง) ซึ่งจตุพรก็รำพึงออกมาอย่างชัดเจนว่า ชะตากรรมคงไม่ต่างกัน เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น
8) นายจตุพรกล่าวต่อไปว่า จากที่ได้เข้าฟังคำพิพากษานั้น ตนเห็นว่าที่แตกต่างกันคือ ตนยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็ต้องไปจัดการชีวิตทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวมเรื่องสุขภาพ เพราะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง พวกตนน้อมรับคำตัดสินของศาลอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ได้พูดคุยกับทั้ง 5 คนในคดีนี้อยู่บ้าง เพราะกว่า 10 ปีนี้ มันมีเรื่องราวกันมากเหลือเกิน แม้กระทั่งคนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามมาอยู่ฝ่ายเดียวกันก็มี เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถสส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ส่วนนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย “เพราะฉะนั้นความลำบากของชีวิตไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองก็ลำบาก ทุกฝ่ายที่ต่อสู้กันมาช่วง 10 ปีนี้ ที่ไม่ติดคุกก็ต้องมาขึ้นศาลทุกสัปดาห์ พวกเราต่างรู้จักกันมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ทั้งสิ้น” นายจตุพร กล่าว
9) “พฤษภาทมิฬ” หรือเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 คือ “บาดแผลของกองทัพ” คือการที่ทหาร “ล้ำเส้น” เขาสู่การเมือง แต่ใช้วิธีแบบ “ทหารๆ” ที่ทำให้หลังจากนั้น ทหารกลับเข้ากรมกองอย่าง “คนมีแผล” นักการเมืองเป็น “ตัวแทนบริสุทธิ์”ของประชาชน ที่จะทำให้ “พื้นที่การเมืองการปกครอง” เป็นของ “ผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่ของ “คนถือปืน” เวลานั้นเกิดการปฏิรูปการเมือง เกิดการสร้างสรรค์รัฐธรรมนูญ อย่าง รัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นมา มีความพยายามที่จะทำให้ “การเมืองมีคุณภาพ” เพื่อ “ปิดทางการยึดอำนาจของทหาร” ลง ประชาชนตื่นเต้น มีความสุข ที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาบ้านเมือง
10) เล่ามาทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า พลังทางการเมืองถูกส่งผ่าน “เครื่องมือ” ที่ปัจจุบันเราต้องทบทวนร่วมกัน คือ การดึงเอาสถาบันเบื้องสูงมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ทั้งๆ ที่โดยหลักการ เราแยกออกไปอยู่เหนือการเมืองละความขัดแย้งทั้งปวง แต่พวกหนึ่งก็ใช้วิธีปลุกระดมมวลชน กล่าวหาว่าล้ำเส้นมาเกี่ยวข้องกับการเมือง (ดึงลงมา เพื่อให้ตัวเองถูกต้องว่าอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่ถูกรังแก เพราะความอิจฉา ซึ่งหากไปดูถ้อยคำปลุกระดมจากต่างประเทศของทักษิณ การใช้สัญลักษณ์แบบนี้ชัดเจนมากๆ และปลุกเร้ามากๆ ผลพวงจากการเดินเกมว่า “อำมาตย์อิจฉา” พร้อมกับย้ำว่า ราษฎรเหนื่อยยาก แต่ผลตอบแทนคือชีวิตที่ยากลำบาก พอมีฝ่ายการเมืองที่จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ จนได้รับความรักอย่างกว้างขวางก็ต้องถูกปลิดโค่นลง ก่อให้เกิดความโกรธแค้น ชิงชัง และส่งต่อมาถึงมวลชนจำพวกหนึ่งในปัจจุบันด้วย) มันจึงเกิดแนวรบอีกฝ่ายที่ก็ “ดึง” เอามาใช้ผ่าน “หมวกและผ้าพันคอ” หรือ “เสื้อสีเหลือง” ในเวลานั้น การเมืองจึงไม่ได้เผชิญหน้ากันด้วยข้อเท็จจริงว่า ประชาชนควรรวมตัวกัน เรียกร้องให้ฝ่ายการเมือง ทำ“การเมืองสีขาว” การเมืองที่เอาความรู้ความสามารถและจิตใจที่เสียสละ มาแก้ปัญหาของประชาชน ไม่ใช่มาแสวงอำนาจแล้วแปรเปลี่ยนเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน
11) รัฐบาลนอมินีทักษิณ ยังคงชนะการเลือกตั้งแต่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาเป็นระยะๆ เพราะความสามารถในการจัดการกับ “นักการเมือง” และ “บ้านเมือง” ไม่ได้มีเท่ากับ “ทักษิณ” นอมินีนอกวงศ์ตระกูลอย่าง “สมัคร สุนทรเวช”ทำให้ทักษิณรู้ว่า “ควบคุมยาก” จึงเริ่มขยับปรับเปลี่ยนมาสู่ “วงศ์วานว่านเครือ” ซึ่งระหว่างนั้น มวลชนอย่าง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ก็ยังคงเป็นขั้วตรงข้ามที่ทรงพลัง จากการต่อต้านคอร์รัปชั่น ก็หันมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐใน“วงศาคณาญาติ” แทน โดยยังกังวลเรื่อง “คอร์รัปชั่น” และการเมืองยังถูกบงการโดย “ทักษิณ” เพื่อหาทาง “ล้างผิด” ให้ตัวเอง บรรยากาศทางการเมืองจึงยังคงเป็นการเผชิญหน้ากัน ระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภา กับการเมืองภาคประชาชน โดยมี“สื่อ” เข้ามาเป็น “แกนนำหลัก” เวลานั้น “สื่อ” จึงเป็นหนึ่งในหน่วยการเมืองของประเทศไทย “การใช้สื่อเพื่อการเมือง” เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ จนฝ่ายการเมืองเริ่มสนใจที่จะ “มีสื่อ” ของตัวเอง
12) รัฐบาลสมัครล้ม เพราะไปรับประโยชน์จากเอกชน ผ่านการทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” ของนายสมัคร แต่ไม่มีปัญหาอะไร หากเวลานั้น ทักษิณจะยืนยันให้บริวารเลือก “สมัคร” เป็นนายกฯต่อไป แต่กลับเปลี่ยนไปเลือก “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยขึ้นมาแทน สมัครก็เจ็บปวด มวลชนก็ใช้คำว่า “นอมินี” ได้เต็มปากขึ้น การต่อต้านรัฐบาลนอมินีก็ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ถึงขั้น “ยึดทำเนียบมาทำนา” สื่อทำหน้าที่ระดมคนมาเป็น “กำลังพล” ทางการเมือง พร้อมๆ กับปลูกสร้าง “แนวคิดทางการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่า พรรคการเมืองที่มีมันล้มเหลวแต่การเมืองของประชาชนต่างหากคือของจริง แต่ก็มาพลาด เมื่อต่อมาดันทะลึ่งตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาจนได้ หมายจะเอาความนิยมนอกสภา ผลักดันตัวเองให้ไปยึดกุมอำนาจในสภาได้และจะ “สร้างชาติ” ขึ้นมาในแบบที่อยากจะเห็นอยากจะเป็น และอยากจะมี
13) กระทั่งเกิดเหตุ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้พรรคถูกยุบ ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่พร้อมวาทกรรมของ เนวิน ชิดชอบ ว่า “นายครับ มันจบแล้วครับ” วิเคราะห์กันว่า ทหารช่วยเจรจากับกลุ่มเนวิน จนยอมแยกจากฝ่ายทักษิณ มาตั้งพรรคการเมืองใหม่ และร่วมโหวตสนับสนุน “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นเป็นนายกฯ โดยที่พรรคฝ่ายทักษิณ ไม่ได้เสนอชื่อคนของตัวเองขึ้นแข่ง แต่ไปเลือกคนของพรรคเล็กอีกพรรคขึ้นมาสู้แทน แต่แพ้โหวตในสภา รัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงเกิดขึ้น เปิดทางให้อีกฝ่ายปลุกระดมว่า “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” มวลชนอีกสีเริ่มมาเผชิญหน้ากับรัฐบาล โดยที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็พยายามส่งเสริมบรรยากาศ “ประชาธิปไตย” พยายามไม่ถือสาหาความ เพื่อจะพิสูจน์ว่า นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
14) จนเมื่อมวลชนถูกระดมมาได้มากมายมหาศาล เกินการควบคุม และเกินเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ความพยายามที่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ “เอาไม่อยู่” การตั้งโต๊ะเจรจา ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แบบสุภาพบุรุษประชาธิปไตยของ “อภิสิทธิ์” ก็ไม่เป็นผล เพราะแกนนำมวลชนถูกสั่งให้เดินอีกทาง มวลชนฮึกเหิม แกนนำคึกคะนองจากการมีพร้อมแล้วของ “แก้วสามประการ” ที่นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ประกาศบนเวที นปช. ว่า เรามีแล้วทั้งพรรคการเมือง มวลชน และกองกำลังติดอาวุธ ในเวลานั้นคดีความของนายทักษิณ ชินวัตร ถูกพิพากษาบ้างแล้ว ทักษิณที่เคยกลับเข้ามา “กราบแผ่นดิน” ในยุครัฐบาลสมัคร ก็หนีออกนอกประเทศไปอีก ผ่านการอ้างว่า “ไปดูกีฬาโอลิมปิก” ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทักษิณสติแตก ถึงขั้นร่วมปลุกระดมมวลชนด้วยตัวเอง ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจากต่างประเทศเลยทีเดียว นั่นคือการถูกยึดทรัพย์ จากคดี “ร่ำรวยผิดปกติ” เพราะใช้อำนาจรัฐ ใช้ความเป็นผู้นำฝ่ายบริหารที่มีคณะรัฐมนตรีที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ มาเอื้อ หรือที่เรียกว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเจรจาเพื่อสลายการชุมนุมกลับบ้าน รอรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจจบ เตรียมความพร้อมให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การเลือกตั้งโดยสันติและปลอดภัยได้ ก็จะยุบสภา เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่อยู่จนเต็มวาระแน่นอน
15) ปฏิบัติการของมวลชน นปช. ถูกชี้นำให้ทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำมาอาเซียน ยึดแยกราชประสงค์ รุมฆ่าอภิสิทธิ์ที่กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ ล้วนผลักดันให้เกิดการสลายการชุมนุม โดยที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์พยายามจะทำให้ถูกต้องด้วยการถามไปยังศาลหลายครั้ง จนศาลต้องตัดบทว่าเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่ศาลบอกได้แค่เพียงว่า เป็นการชุมนุมที่เกินจากการคุ้มครองของรัฐธรรมนูญและเพราะไม่ได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การ “ขอคืนพื้นที่” จึงเกิดขึ้น และเกิดการปรากฏตัวของ “ชายชุดดำ” กับสไนเปอร์ก็เริ่มขึ้น 10 เมษายน 2553 ที่สี่แยกคอกวัว หลังจากนั้นเองที่อริสมันต์ประกาศ “แก้วสามประการ” และมวลชนก็ไม่ยำเกรงสิ่งใดอีก
16) ทว่าการสลายการชุมนุม แม้พยายามจะกระทำอย่างระมัดระวังเพียงใด ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นในหลายจุด มีการเสียชีวิตของประชาชน สื่อมวลชน ตำรวจ ทหาร ขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์ของแกนนำที่ใช้ปลุกระดมต่อมาอีกหลายปี ว่า “ทหารฆ่าประชาชน” เพราะวาทกรรม “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด”ใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วฝ่ายกล่าวหาต้องติดคุกติดตะรางกันไป เนื่องจากรัฐบาลกระทำตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักสากล ทว่าคดีที่มีคนตายก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครฆ่า และยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ผ่านมา 10 ปีแล้ว
ถึงจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่า องคาพยพทางการเมืองที่หวนกลับมาประชุมกันในปัจจุบันอีกครั้ง มีอะไรบ้าง
มีการเมืองที่ล้มเหลวโดยนักการเมืองเอง เพราะไม่อาจสร้างรัฐสภาที่มีธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นได้จริง การคดโกงการบิดเบือน การทำลายการตรวจสอบ ล้วนทำให้ฝ่ายการเมืองเป็น “คนสกปรก” ขณะที่ประชาชนถูกจัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองขึ้นมาตรวจสอบ กลายเป็น “พลังสะอาด” ที่หากผสานกับพลังของ “สื่อ” ก็สามารถ “ล้มรัฐบาลหนึ่งๆได้” (ดังที่เวลาต่อมาก็เกิด กปปส. + สื่อบลูสกาย เหมือนที่เคยมีกลุ่มพันธมิตร + เอเอสทีวีและ นปช. + โทรทัศน์ วิทยุ วิทยุชุมชน หลายยี่ห้อ มาก่อน) และการเข้ามาของทหาร
เราคงต้องคุยเรื่องนี้กันต่อในฉบับวันพุธ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า นักการเมือง/พรรคการเมือง กองทัพ มวลชน สื่อ กฎหมาย องค์กรอิสระ และความจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดี ยังคงเป็นปัจจัยและเป็นเครื่องมือ “เคลื่อนการเมือง” ของประเทศไทยอยู่ อยู่ที่ว่าองคาพยพเหล่านี้ถูกจัดการอย่างไร โดยใคร และหวังผลอะไรเท่านั้น
(อ่านต่อกันวันพุธนี้ครับ)
June 28, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/38dJ8yv
คอลัมน์การเมือง - ยึดอำนาจสมบูรณ์แล้ว - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์การเมือง - ยึดอำนาจสมบูรณ์แล้ว - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment