สำหรับ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้น" หรือทางการแพทย์เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA) เป็นภาวะที่เกิดการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วงๆ ในขณะที่เราหลับ ในคนปกติขณะหลับ กล้ามเนื้อรอบคอหอย และโคนลิ้น จะหย่อนตัวลงและปิดทางเดินหายใจได้เล็กน้อย การหายใจในช่วงนอนหลับจะยังคงเป็นปกติ อาจมีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วได้ เฉลี่ยไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง
แต่บางคนที่มีโครงสร้างบางอย่าง อาจทำให้เกิดการตีบแคบเกิดขึ้น เช่น อายุมากขึ้น, มีเพดานอ่อน หรือลิ้นไก่หย่อนยาน, ภาวะอ้วน หรือโครงสร้างใบหน้าที่มีคางเล็กหรือคางสั้น ทำให้ลิ้นตกขณะนอนหลับมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอย เกิดการตีบแคบง่ายขึ้นขณะหลับ จนหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วเป็นช่วงๆ ได้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อร่างกายในระยะสั้นและระยะยาว
ปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา มีผลอย่างไร
ระยะสั้น : การหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวเรื่อยๆ ขณะนอนหลับ ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หลับไม่ลึก เกิดความง่วงระหว่างวัน ความจำไม่ดี สมองไม่ปลอดโปร่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ปวดหัวช่วงเช้า
ระยะยาว : เมื่อมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะทำให้หัวใจและปอดทำงานหนักขึ้น มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต หรือควบคุมความดันโลหิตได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรามักสงสัยภาวะนี้ในคนที่ปัจจัยเสี่ยงหรืออาการสำคัญ ได้แก่ (รวมกันอย่างน้อย 3 ข้อขึ้นไป)
- เพศชาย
- มีภาวะอ้วน
- อายุมากกว่า 50 ปี
- ความยาวเส้นรอบคอ มากกว่า 40 ซม.
ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยภาวะนี้ ใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐานและมีความแม่นยำสูง คือ "การตรวจการนอนหลับ" ปัจจุบันมีหลายประเภท ได้แก่ การตรวจการนอนหลับเต็มรูปแบบ (ค้างคืนที่โรงพยาบาล) หรือ การตรวจการนอนหลับ โดยมีอุปกรณ์ไปติดที่บ้าน (Home sleep apnea test) โดยจะเป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์คุณภาพการนอนหลับอย่างละเอียด ได้แก่ ระดับความลึก-ตื้นของการหลับ ระบบการหายใจขณะนอนหลับ การตื่นตัวของสมอง และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติขณะหลับ เพื่อยืนยันว่ามีการหายใจที่ผิดปกติขณะนอนหลับจริงหรือไม่
การรักษามีหลายวิธี ดังนี้
- เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive airway pressure หรือ CPAP)
เป็นอุปกรณ์สร้างแรงดันบวก โดยสวมเป็นหน้ากากใส่ขณะนอนหลับ เครื่องนี้จะช่วยสร้างแรงดัน เข้าไปถ่ายขยายจุดที่มีการตีบแคบบริเวณคอหอยให้กว้างขึ้น ทำให้การหายใจไม่มีการติดขัดขณะหลับ
- การผ่าตัดแก้ไข
ในกรณีที่ตรวจพบว่า มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่รุนแรง หรือทนแรงดันจากการใช้เครื่องอัดอากาศไม่ได้ ซึ่งการผ่าตัดจะต้องแก้ไขไปตามตำแหน่งที่สงสัยว่าเกิดการตีบแคบขณะหลับ เช่น ผ่าตัดต่อมทอนซิล ผ่าตัดแก้ไขลิ้นไก่ หรือเพดานอ่อนที่หย่อนยาน ผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกที่คดเอียง หรือการใช้คลื่นวิทยุจี้เพื่อลดขนาดเยื่อบุจมูกที่บวมจากภูมิแพ้ เป็นต้น
- อุปกรณ์ทันตกรรม (Oral appliance)
เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ในช่องปากขณะนอนหลับ ซึ่งต้องปรึกษาทันตแพทย์ จุดประสงค์เพื่อทำให้ลิ้นไม่ตกขณะหลับ และโครงสร้างคอหอยตีบแคบลดลงขณะหลับ
สำหรับการรักษาอื่นๆ เช่น การลดน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการนอนตะแคง อาจช่วยลดอาการนอนกรน หรือการหยุดหายใจได้ในคนบางกลุ่ม แต่ในระยะยาว ยังไม่มีการศึกษาว่า เกิดประโยชน์ในการรักษาที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการรักษาโรคร่วมโดยการใช้ยา เช่น ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ เพื่อรักษาโรคภูมิแพ้
สุดท้าย หากท่านใดที่มีอาการสงสัยว่า ตนเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อการประเมินเบื้องต้น และพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับต่อไป เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
ขอบคุณ : นพ.ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ โสต ศอ นาสิกแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
https://ift.tt/30bMUFS
สุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันตรายที่มาพร้อม "นอนกรน" เช็กวิธีรักษา - ไทยรัฐ"
Post a Comment