ลีลาและน้ำเสียงของสหรัฐฯ ที่ออกมาซัดจีนในช่วงหลังนี้หนักหน่วงและรุนแรงเป็นพิเศษ
วาทะเร่าร้อนจากวอชิงตันที่พุ่งเป้าไปที่ปักกิ่งนั้นเริ่มมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามมาด้วยคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมก์ ปอมปิโอ
จากนั้นก็มีถ้อยแถลงจากเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
และล่าสุดคือบทความของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร
เป็นการยกระดับการเผชิญหน้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ที่ฟาดฟันกันในเกือบจะทุกมิติ
ตั้งแต่เรื่องสงครามการค้าประกบด้วยสงครามไซเบอร์และลามไปถึงโควิด-19
ล่าสุดยกเอาเรื่องทะเลจีนใต้มาเป็นประเด็น โดยอเมริกาออกมายืนยันว่าคำกล่าวอ้างของจีนที่มีอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดนั้นเป็นเรื่อง "ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ" และ "ไม่ชอบธรรม"
ที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนไทยคือ บทวิเคราะห์ล่าสุดของทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยนั้นดึงเอาไทยเข้าไป "เป็นพวก" ด้วย
ทำให้เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่งกับการวางตัวในภาวะร้อนรุ่มระหว่างสองยักษ์นี้
เพราะเราเห็นชัดว่าอเมริกาท้าทายจีนอย่างเปิดเผย ได้ส่งเรือรบประชิดเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
เริ่มด้วยเราได้ข่าวว่า "เรือรบยูเอสเอสดิวอี" ได้แล่นเข้าใกล้หมู่เกาะเทียมที่สร้างโดยจีนในทะเลจีนใต้
เป็นการวิ่งเข้าบริเวณภายในระยะทาง 12 ไมล์ทะเลจากแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef)
ปักกิ่งโต้ด้วยการประกาศว่าเรือรบของสหรัฐฯ ได้วิ่งเข้ามาในเขตน่านน้ำของจีน "โดยไม่ได้รับอนุญาต"
จีนแจ้งเตือนให้เรือรบสหรัฐฯ ออกไปจากพื้นที่เสีย
แต่มะกันยืนกรานว่าบริเวณนั้นเป็น "น่านน้ำสากล" จึงจะปฏิบัติการต่อไป
เรื่องไม่จบแค่นั้น ผ่านมาไม่กี่วันสหรัฐฯ โวยว่าจีนส่งเครื่องบินขับไล่สกัดเครื่องบินสหรัฐฯ เหนือทะเลจีนตะวันออก
และยังเรียกร้องให้จีนหยุดถมทะเลสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
สหรัฐฯ อ้างเสมอว่าไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในข้อพิพาทบนทะเลจีนใต้ ที่จีนมีเรื่องขัดแย้งกับเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และไต้หวันมายาวนาน
แม้อาเซียนกับจีนได้ร่วมกันร่าง "กฎกติกามารยาท" หรือ Code of Conduct ว่าด้วยการประสานงานว่าด้วยกิจกรรมในทะเลจีนใต้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด แต่ก็ยังไม่ได้สรุปให้เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบและเครื่องบินรบเข้าใกล้หมู่เกาะพิพาท โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติการบนพื้นฐานของ "เสรีภาพในการเดินเรือ" หรือ Freedom of Navigation ในน่านน้ำสากล
วอชิงตันวิพากษ์จีนมาตลอดว่าได้พยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำของประเทศอื่นมาตลอด
ผู้นำระดับสูงของจีนอย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกฯ หลี่ เค่อเฉียงยังไม่ได้ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ
ส่วนใหญ่จะให้โฆษกกระทรวงกลาโหมและต่างประเทศเป็นผู้วิวาทะกับสหรัฐฯ
สังเกตได้ว่าช่วงหลังภาษาของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่เคยเป็น "ภาษาการทูต" กลายเป็น "การแลกกันคนละหมัด" อย่างไม่เกรงอกเกรงใจกันอีกต่อไป
นายหลู กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน มักจะเป็นผู้ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดก็แถลงประณามปฏิบัติการของสหรัฐฯ ว่าเป็น "การบ่อนทำลายอธิปไตยและความมั่นคงของจีน"
โดยเฉพาะ "ความพยายามที่จะรุกล้ำเข้าในเขตน่านน้ำหรือน่านฟ้าของจีน"
จีนดึงเอาอาเซียนเข้ามาเป็นพวกในกรณีนี้ด้วย
โดยปักกิ่งบอกว่าภายใต้ข้อตกลงระหว่างจีนและชาติสมาชิกอาเซียน ขณะนี้ข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ได้ผ่อนคลายลงไปมากแล้ว
ฉะนั้นปักกิ่งจึงมองว่าการ "ยั่วยุ" ของสหรัฐฯ เป็นการจงใจขัดขวางการร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างจีนกับอาเซียน
เมื่อสหรัฐฯ ตอกย้ำการแสดงแสนยานุภาพในแถบนี้ ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำคือ USS Nimitz และ USS Ronald Reagan มาทำการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ โดยมีเรือรบจีนเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ย่อมยกระดับความตึงเครียดทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน
ในจังหวะใกล้กันนั้นเราก็ได้อ่าน "บทความ" ของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่ทำให้เห็นภาพชัดว่า "สงครามเย็นรอบใหม่" ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองได้ระเบิดขึ้นแล้ว
พรุ่งนี้: วิเคราะห์เนื้อหาของบทวิเคราะห์ทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย.
July 20, 2020 at 12:12AM
https://ift.tt/3eKTTtG
สงครามเย็นรอบใหม่ กับคลื่นเร่าร้อนในทะเลจีนใต้ - ไทยโพสต์
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สงครามเย็นรอบใหม่ กับคลื่นเร่าร้อนในทะเลจีนใต้ - ไทยโพสต์"
Post a Comment