ขบวนของ "สมัชชาคนจน" เป็นที่คุ้นหูมาหลายยุคหลายรัฐบาล ภาพการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อของชาวบ้านเกษตรกรผู้เดือดร้อนจากทั่วประเทศที่มาค้างคืนใกล้ทำเนียบรัฐบาล เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนจนที่ส่งเสียงให้รัฐได้ยินถึงศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2538
ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนหลังจากนั้น ความเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ที่มาพร้อมกับความเดือดร้อนของชาวบ้านในหลากหลายกลุ่ม มักปรากฏในชื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมชื่อนี้
ล่าสุด สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์สองฉบับ ประกาศหนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะประชาชนปลดแอก ให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา พร้อมประกาศร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
เป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ทำให้การชุมนุมในปี 2563 มีความหลากหลายของแนวร่วมนอกเหนือจากกลุ่มนิสิต นักศึกษา เยาวชน
"การเมืองที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน" คือนิยามประชาธิปไตยของพวกเขา
แถลงการณ์ฉบับแรกของสมัชชาคนจน เกิดขึ้นเมื่อนายบารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อคืนวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ก่อนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอื่นรวม 7 ข้อหา จากการขึ้นเวทีของคณะเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. สมัชชาคนจนออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายบารมีและแกนนำที่ถูกจับกุมในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
สมัชชาคนจนประกาศด้วยว่า พร้อมเคลื่อนไหวและปักหลักชุมนุมยืดเยื้อที่กรุงเทพมหานคร หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในทันทีต่อข้อเรียกร้อง ต่อมาหลังจากที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวนายบารมี สมัชชาคนจนประกาศว่าสมาชิกจะเข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยเริ่มจากการชุมนุมที่ภาคอีสานในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ที่ จ.ขอนแก่น
"หากมีกำหนดการชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานครเมื่อใด สมัชชาคนจนจะเข้าร่วมชุมนุมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา แรงงาน และประชาชนผู้เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยโดยทันที" แถลงการณ์ระบุ
สมัชชาคนจนคือใคร
สมัชชาคนจนก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2538 เป็นการรวมตัวของเครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐหลายปัญหา
"การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำดิน ปัญหาการสร้างเขื่อน ปัญหาไล่รื้อชาวบ้านในสลัม ประมงพื้นบ้าน นโยบายด้านการเกษตรขนาดใหญ่ สิทธิคนงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เมื่อมีปัญหาพวกนี้เราก็ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา" บารมี เลขาธิการสมัชชาคนจน กล่าวกับบีบีซีไทย
การชุมนุมครั้งแรกของสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2539 ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเจรจาเรื่องปัญหาเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอีสาน ทว่าการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่สั่นสะเทือนรัฐบาลในทัศนะของบารมี คือ การชุมนุม 99 วันบนท้องถนน เมื่อเดือน ม.ค. 2540 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
"การชุมนุมอยู่ 99 วัน มีการเปิดการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเกือบทุกวัน วันที่มีชาวบ้านร่วมชุมนุมสูงสูดเป็นวันที่มีคนเต็มพื้นที่สนามหลวง น่าจะประมาณ 50,000 คน"
การชุมนุมครั้งนั้น ได้ข้อตกลงจากการเจรจาของชาวบ้านกับรัฐบาลออกมาในรูปของมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสามารถแก้ปัญหาทุกข์ยากของชาวบ้านจนบรรลุผล 18 กรณี
รัฐธรรมนูญคนจน
บารมีบอกว่านี่ไม่ใช่การที่สมัชชาคนจนเพิ่งออกมา ทว่าสามข้อเรียกร้องของคณะประชาชนปลดแอก เป็นความเคลื่อนไหวที่สมัชชาคนจนเกาะติดและขับเคลื่อนมาอยู่แล้วโดยเฉพาะประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ระหว่างที่กำลังมีกระแสการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัชชาคนจนก็กำลังร่าง "รัฐธรรมนูญคนจน" ขึ้นมาเช่นกัน
รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับชาวบ้านอย่างไร บารมีบอกว่า เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งร่างขึ้นมาใหม่ยุคนั้น เปิดให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วม สมัชชาคนจนเองก็เป็นส่วนหนึ่ง บารมีบอกว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านมีฐานจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
เขาอธิบายต่อว่าเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกไป สมัชชาคนจนจึงต้องคุยเรื่องการเมืองมากขึ้น
"พอรัฐประหารปี 2557 พวกเราประกาศว่า ต้องเลิกสังฆกรรมกับเผด็จการ เพราะนโยบายทวงคืนผืนป่า มันเป็นการทำร้ายชาวบ้านที่ชัดเจนมาก" บารมีกล่าว
จากการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก เช่น การจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ โครงสร้างกติกาทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เขียนขึ้นภายใต้เงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้พวกเขาเห็นปัญหาชัดเจนจากรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อคนจน
บารมีชี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้รวบอำนาจไว้ที่ระบบราชการ ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญของรัฐมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามมาด้วยกฎหมายที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในยุค คสช. ที่บัดนี้ครึ่งหนึ่งแปลงร่างมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
"กฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวกับทรัพยากรในท้องถิ่น รวมศูนย์อำนาจไว้ที่อำนาจรัฐ เช่น พ.ร.บ.น้ำ การจัดสรรที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รัฐใช้วิธีเข้าไปดำเนินการกับชาวบ้านโดยตรง"
นอกจากนี้ การคุกคามประชาชนซึ่งชาวบ้านสมัชชาคนจนประสบมาเช่นกันนั้นเกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่รัฐบาล คสช.จนถึงปัจจุบัน เช่น การข่มขู่ชาวบ้านจากการทวงคืนผืนป่า ไล่ตัดต้นไม้ที่ถูกกล่าวหาว่ารุกที่ดินของรัฐ
บารมีบอกอีกว่า การจับกุมเขาจากการขึ้นปราศรัยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. เป็นเรื่องที่รัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชัดเจน เขาและคนอื่น ๆ ไม่ควรถูกจับในเมื่อรัฐธรรมนูญรับรองว่าประชาชนมีเสรีภาพชุมนุม และ "เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเรื่องใหญ่กว่ากฎหมายความสะอาดที่มันเป็นเรื่องเล็กกว่า"
"การเมืองที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน"
เลขาธิการสมัชชาคนจนเห็นว่าผู้มีอำนาจควร "เห็นหัวคนจน ๆ" โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการร่างกติการัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องแบ่งเขต ส.ส.เขตใหญ่เขตเล็ก ที่มา ส.ส. จะเป็นอย่างไร แต่ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"ประชาธิปไตยที่กินได้ หมายถึงเรื่องอำนาจในการจัดการทรัพยากร ป่าชุมชน อุทยานฯ จัดการน้ำ เราก็สามารถฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูน้ำ มันเป็นเรื่องที่ชาวบ้านจับต้องได้"
แกนนำขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านบอกว่า อาวุธของพวกเขาคือความจริง และพลังที่ใช้ต่อสู้คือความเดือดร้อน
"ปัญหาความทุกข์ยากมันกดดันให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้ ถ้าเรามีความสุขสบายเราไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เราต้องเอาความจริงมาเปิดเผยว่าความทุกข์ของเราเกิดเพราะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างไร เราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพัฒนาอย่างไร"
ความเคลื่อนไหวสมัชชาคนจนครั้งสำคัญ ๆ ในรัฐบาลแต่ละชุด
- รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา -- ปี 2539 การชุมนุมครั้งแรก มีผู้ร่วมชุมนุมจาก 21 จังหวัด ประมาณ 11,000 คน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเขื่อน ปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ปัญหาจากโครงการของรัฐ ปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน และปัญหาชุมชนแออัด
- รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ -- การชุมนุม 99 วันบนท้องถนน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 20,000 คน มีการขยายพื้นที่ปัญหาออกไปสู่ภูมิภาคขยายวงกว้างมากขึ้นเป็น 35 จังหวัด
- รัฐบาลชวน หลีกภัย 2 -- รัฐบาลนายชวน ประกาศไม่รับร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการที่ผ่านการร่างร่วมกัน มีการอนุมัติงบประมาณการออกแบบการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ. แพร่ สมัชชาคนจนจึงจัดชุมนุมดาวกระจายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น การปักหลักชุมนุมของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน จ.อุบลราชธานี
- รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร -- มีการชุมนุมของสมัชชาคนจนอย่างน้อย 3 ครั้ง หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของนายทักษิณในการเลือกตั้งต้นปี 2544 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาฯ
- ในช่วงแรกของรัฐบาล นาทักษิณได้ลงพื้นที่เขื่อนปากมูล และสั่งการให้ทดลองเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือน ตามมติ ครม.เดิม เพื่อศึกษาผลกระทบ แต่หลังจากนั้นการแก้ไขไม่คืบหน้า สมัชชาคนจนพยายามเรียกร้อง แต่ถูกรัฐบาลใช้มาตรการโต้ตอบขับไล่ผู้ชุมนุม
- เดือน ก.พ. 2549 เกิดการชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลทักษิณ ทว่ายังยืนยันที่จะชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของตนเอง และปฏิเสธการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลว่าสมัชชาคนจนเป็นการรวมตัวจากปัญหาความเดือดร้อนของหลายกลุ่ม แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง
August 23, 2020 at 08:18PM
https://ift.tt/2CSkybb
ประชาชนปลดแอก: ย้อนความเคลื่อนไหว 25 ปี สมัชชาคนจน ก่อนร่วมหนุนประชาชนปลดแอก - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ประชาชนปลดแอก: ย้อนความเคลื่อนไหว 25 ปี สมัชชาคนจน ก่อนร่วมหนุนประชาชนปลดแอก - บีบีซีไทย"
Post a Comment