Search

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หนุนไทยใช้หุ่นยนต์ มาเก็บเกี่ยวผลไม้ที่มีมูลค่าสูง - efinanceThai

roe.prelol.com

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ นับเป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Technology: AgriTech) ที่มีความแม่นยำสูง ตอบโจทย์ปัญหาในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในด้านคุณภาพจากความแม่นยำในการคาดการณ์ความเหมาะสมของผลไม้ในการเก็บเกี่ยวเพื่อลดความสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวเมื่อเทียบกับแรงงานคน

  ตอบโจทย์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตผลไม้ที่สำคัญของโลก และสอดคล้องไปกับความต้องการผลไม้ในตลาดโลกที่มีรองรับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทยในปี 2563 น่าจะสามารถประคองการเติบโตต่อไปได้อยู่ที่ราว 120,000-125,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.1-10.5 (YoY)

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้มาใช้ในกลุ่มผลไม้ที่มีมูลค่าสูง (High Value) ที่เน้นคุณภาพเป็นหลักเป็นอันดับแรกก่อน ตามมาด้วยผลไม้ในกลุ่มลักษณะเหมาเข่ง ที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก เพราะส่วนใหญ่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป สำหรับในแง่ของประสิทธิภาพการใช้งานหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เมื่อเทียบกับแรงงานคน ตลอดช่วงอายุการใช้งานของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ (10 ปี)

  ประเมินว่า การนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลไม้ จะสามารถสร้างรายรับส่วนเพิ่มที่ดีได้รวมราว 5.9 ล้านบาท จากผลของราคาขายผลไม้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์ไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคนมากนักราว 0.4 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนรวมราว 5.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 0.55 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะสามารถคืนทุนได้ในปีที่ 4 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ที่น่าสนใจ

  ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Technology: AgriTech) เข้ามาใช้ในภาคการเกษตรเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ข้อจำกัดของภาคการเกษตรต่างๆ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน พื้นที่ทางการเกษตรที่มีจำกัด ตลอดจนปัญหาแรงงานในภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่ง

  ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการอาหารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้วยการผลักดันให้ภาคเกษตรต้องใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ในยุคที่ Technology is everything เพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ภาพของการทำเกษตรในอนาคตคล้ายกับการดำเนินงานในอุตสาหกรรมในแง่ที่มีการตรวจวัดตัวแปรต่างๆ เพื่อให้สภาพแวดล้อมอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้แบบ Real Time ผ่านหัวใจสำคัญของ AgriTech คือ IoTs และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

  ดังนั้น การใช้ AgriTech จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเพื่อเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรไทย ด้วยหลักการทำงานแบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ในการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร โดยหนึ่งในเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่น่าสนใจคือ หุ่นยนต์การเกษตร (Farming Robot) ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่การเตรียมเพาะปลูก การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงขั้นหลังการเก็บเกี่ยว

  ซึ่งการเก็บเกี่ยวนับเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานมากที่สุดในการผลิตสินค้าเกษตร คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนการใช้แรงงานราวร้อยละ 42.7 ของต้นทุนผันแปรค่าจ้างแรงงานทั้งหมด ทำให้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว เป็นตัวที่ควรเร่งยกระดับมากที่สุด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพที่ดีก่อนนำออกไปจำหน่าย และยังเป็นการลดการใช้แรงงาน ลดค่าใช้จ่าย

   นอกจากนี้ ประโยชน์จากการใช้หุ่นยนต์รองลงมาคือ เป็นการช่วยด้านสุขอนามัยของเกษตรกรที่สามารถลดการสัมผัสโดยตรงกับสารเคมี/ยาปราบศัตรูพืช โดยพืชที่น่าสนใจในการนำมาชูโรง คือ ผลไม้ เนื่องจากผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในแต่ละปี

   โดยส่วนใหญ่เป็นการปลูกผลไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่กลางแจ้ง (Outdoor Farming) ทำให้เดิมทีแรงงานคนที่ใช้อาจคาดการณ์การสุกของผลไม้ที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อความสูญเสียของผลผลิตผลไม้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้การใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เป็นการตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรในสวนผลไม้ที่เป็นแบบ Smart Farming ได้เป็นอย่างดี

  สำหรับการวิเคราะห์ชนิดของผลไม้ที่จะนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ในขั้นตอนของการเก็บเกี่ยว จะมีมิติที่สำคัญในการพิจารณาทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณการผลิต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลไม้ในกลุ่มที่ 1 คือ ผลไม้ที่มีมูลค่าสูง (High Value) อย่างทุเรียน มังคุด มะม่วง กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกหลักของไทย

  น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้ก่อนเพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิต เนื่องจากผลไม้กลุ่มนี้เน้นการคัดคุณภาพแบบลูกต่อลูก จึงเป็นกลุ่มที่เน้นด้านคุณภาพเป็นหลัก จากความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการรูปลักษณ์ของผลไม้ที่สวยงาม ขนาดได้มาตรฐาน ทำให้ผู้ผลิตต้องมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก

  ขณะที่ผลไม้ในกลุ่มที่ 2 เป็นผลไม้ในลักษณะเหมาเข่งอย่างลำไย ลิ้นจี่ หรือสัปปะรด จะเป็นกลุ่มผลไม้ที่ไทยควรนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวเข้ามาใช้เป็นอันดับรองลงมา เนื่องจากกลุ่มผลไม้กลุ่มนี้ไม่ได้เน้นด้านคุณภาพมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผลไม้ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น เงาะกระป๋อง สัปปะรดกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง ลำไยอบแห้ง เป็นต้น จึงไม่ต้องเน้นความพิถีพิถันมากนัก แต่จะเน้นไปที่ปริมาณการผลิตมากกว่า

  กดังนั้น หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะเป็นตัวช่วยยกระดับคุณภาพผลไม้ของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่ต้องการการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ มีความแม่นยำ ลดความบอบช้ำของผลไม้ สามารถประเมินความสุกของผลไม้ได้อย่างเหมาะสม/แม่นยำ ประหยัดค่าแรงงานคน และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยได้อีกในเกรดสินค้าส่งออก

  อันจะเป็นการตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่เน้นด้านคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออกที่มากขึ้นอย่างจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น อันจะสอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมของภาครัฐในโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) โดยเฉพาะจังหวัดในแถบภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 ผ่านการพัฒนาคุณภาพและช่องทางการจัดจำหน่าย

ตลาดผลไม้ไทยเติบโตต่อไปได้ สอดรับความต้องการในตลาดโลก…ตอบโจทย์การนำ AgriTech เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

  ผลไม้เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรมาโดยตลอด โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 28.2 ต่อปี และมีมูลค่าส่งออกพุ่งสูงแตะระดับ 113,118 ล้านบาทในปี 2562 สะท้อนถึงศักยภาพของผลไม้ไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะผลไม้สดที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงร้อยละ 79.8

  จึงนับว่าผลไม้สดมีบทบาทสำคัญมากที่สุดเมื่อเทียบกับผลไม้แห้งและแช่แข็ง ไทยจึงควรเร่งส่งเสริมและต่อยอดการผลิตผลไม้โดยเน้นไปที่ผลไม้สดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะผลไม้ส่งออกสำคัญอย่างทุเรียน มังคุด มะม่วง กล้วย ส้ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สอดรับกับความต้องการในตลาดโลกที่นิยมบริโภคผลไม้สดเพื่อสุขภาพ

  นอกจากนี้ ยังคาดว่า ในส่วนของความต้องการผลไม้และผักในตลาดโลกเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารในปี 2563-2568 จะมีแนวโน้มเติบโตดีเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ต่อปี

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยน่าจะมีแนวโน้มประคองการเติบโตต่อไปได้ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีรองรับต่อเนื่อง แม้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การส่งออกผลไม้ไทยจะต้องสะดุดจากแรงฉุดของสถานการณ์โควิด-19 แต่ด้วยปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ประกอบกับมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในตลาดหลักอย่างจีน ทำให้การส่งออกผลไม้เริ่มปรับตัวดีขึ้นได้

  สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2563 น่าจะให้ภาพที่ชะลอลงจากครึ่งปีแรก จากผลผลิตที่ลดลงและความต้องการในจีนที่ชะลอลงกว่าครึ่งปีแรก ทำให้คาดว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของไทยในปี 2563 อาจอยู่ที่ราว 120,000-125,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.1-10.5 (YoY)

   สำหรับในแง่ของการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้และแรงงานคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากเริ่มมีการลงทุนหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวในปี 2563 ด้วยราคา 1.5 ล้านบาท จะทำให้ตลอดช่วงอายุการใช้งานของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ (Life Cycle) ราว 10 ปี

  สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านคุณภาพการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะความแม่นยำในการคาดการณ์ผลไม้ที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวของหุ่นยนต์ที่มากกว่าแรงงานคน จนทำให้รายรับส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์ในการเก็บเกี่ยวมากกว่าการใช้แรงงานคนรวมราว 5.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากราคาขายผลไม้ต่อหน่วยที่สูงขึ้นจากการคาดการณ์คุณภาพผลไม้ที่แม่นยำของหุ่นยนต์

   ขณะที่ในฝั่งของต้นทุนการผลิต จะพบว่า ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์จะมากกว่าต้นทุนค่าแรงงานคนไม่มากนัก คิดรวมเป็นราว 0.4 ล้านบาท สะท้อนถึงต้นทุนราคาหุ่นยนต์เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าแรงงานคนไม่แตกต่างกันนัก  

  สุดท้ายแล้ว ในแง่ของกำไรส่วนเพิ่มที่ได้จากการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการเก็บเกี่ยวเมื่อเทียบกับแรงงานคนตลอดช่วงอายุการใช้งานหุ่นยนต์จะอยู่ที่รวมราว 5.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยราว 0.55 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการใช้หุ่นยนต์ราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการเก็บเกี่ยวที่เกิดจากแรงงานคน อีกทั้งหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะสามารถคืนทุนได้ในปีที่ 4 ทำให้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้มีความน่าสนใจและดึงดูดให้เกษตรกรผู้เก็บเกี่ยวผลไม้พิจารณานำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิตได้ง่ายขึ้น

  อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกของการลงทุนในหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ เกษตรกรอาจต้องเผชิญปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตจากราคาหุ่นยนต์ รวมถึงต้นทุนจากการบริหารจัดการแปลงผลไม้ใหม่ ด้วยการจัดระเบียบให้กับต้นผลไม้อย่างเป็นแถว/แนว เพื่อสะดวกต่อการทำงานของหุ่นยนต์ และอาจต้องเผชิญผลผลิตต่อไร่ที่อาจลดลงได้จากการลดความหนาแน่นของต้นผลไม้

  แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เกษตรกรอาจต้องพิจารณาลงทุนเพิ่มในช่วงปีแรกนี้ เนื่องจากในระยะยาว ผลตอบแทนจากการใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพของผลไม้จะให้ผลคุ้มค่ากว่าการที่ใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว ในภาวะที่แนวโน้มค่าจ้างแรงงานคนสูงขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนแรงงานภาคเกษตรที่อาจลดลง

  นอกจากนี้ มองว่า ในช่วงแรกที่ราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวยังอยู่ในระดับสูง การนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคน ซึ่งเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านคุณภาพในกลุ่มผลไม้ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรก แต่ในระยะถัดไป คาดว่า ราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้น่าจะมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตมีการแข่งขันกันมากขึ้น ผนวกกับองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของผู้เกษตรกรที่มีมากขึ้น

  รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มักจะมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี 5G ที่น่าจะมีการใช้ที่แพร่หลายมากขึ้น จะช่วยให้หุ่นยนต์ทำงานได้ดีขึ้น และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ได้มากขึ้น อันจะเป็นการตอบโจทย์การเก็บเกี่ยวผลไม้ในกลุ่มผลไม้ลักษณะเหมาเข่งที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก ทำให้ภาพของช่วงระยะเวลาที่หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้แพร่หลายในตลาด จะเป็นการเน้นไปที่การประหยัดต้นทุนค่าแรงงานคนมากกว่าการใช้หุ่นยนต์ราคาสูงเพื่อเก็บเกี่ยวผลไม้ที่เน้นคุณภาพ

  สรุป หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง โดยในช่วงแรกที่ราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวยังอยู่ในระดับสูง การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคน จะเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านคุณภาพในกลุ่มผลไม้ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับแรก

   แต่ในอนาคต คาดว่า ราคาหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะถูกลงเรื่อยๆ จากการที่กลุ่มทุนมีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทรนด์ของสินค้าจำพวกเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงหุ่นยนต์ได้มากขึ้น อันจะเป็นการตอบโจทย์การเก็บเกี่ยวผลไม้ในกลุ่มผลไม้ลักษณะเหมาเข่งที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก ทำให้ภาพของระยะที่หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้แพร่หลายในตลาด จะเป็นการเน้นไปที่การประหยัดต้นทุนค่าแรงงานคนมากกว่า

  ขณะที่ในแง่ของประสิทธิภาพการใช้งานหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เมื่อเทียบกับแรงงานคนตลอดช่วงอายุการใช้งานของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ จะพบว่า การนำหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคนจะสามารถมีรายรับส่วนเพิ่มที่ดี จากผลของราคาขายผลไม้ที่อยู่ในระดับสูง

  ขณะที่ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์ไม่แตกต่างจากแรงงานคนมากนัก ส่งผลให้มีกำไรส่วนเพิ่มจากการใช้หุ่นยนต์เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนรวมราว 5.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 0.55 ล้านบาทต่อปี และหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้จะสามารถคืนทุนได้ในปีที่ 4 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของหุ่นยนต์เก็บเกี่ยวผลไม้ที่น่าสนใจ

Let's block ads! (Why?)


August 31, 2020 at 11:58AM
https://ift.tt/3jv58cB

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หนุนไทยใช้หุ่นยนต์ มาเก็บเกี่ยวผลไม้ที่มีมูลค่าสูง - efinanceThai
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ศูนย์วิจัยกสิกรฯ หนุนไทยใช้หุ่นยนต์ มาเก็บเกี่ยวผลไม้ที่มีมูลค่าสูง - efinanceThai"

Post a Comment

Powered by Blogger.