ช่วงปีที่แล้วต่อมาจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เรื่องการผูกขาดของบริษัทไอทีถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในมิติการเมืองสหรัฐที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตฝ่ายซ้ายอย่างอลิซาเบธ วอร์เรนที่มีบทบาทผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขัน ได้นำเสนอนโยบาย Break Up Big Tech ที่จะจับแยกบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ให้แตกออกมาเป็นบริษัทย่อย เพื่อเสริมการแข่งขันและลดอิทธิพลของบริษัทเหล่านี้ลง
ทว่าหลังการถอนตัวของวอร์เรน กอปรกับวิกฤติโควิด ประเด็นเรื่องการจัดการการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีโดยภาครัฐกลายเป็นแค่คลื่นกระทบฝั่งเท่านั้น ก่อนที่เรื่องนี้จะกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งอีกครั้ง จากกรณีที่ Epic ขบถด้วยการทำระบบจ่ายเงินของ Fortnite เอง จนตามมาด้วยการแบนของ App Store และ Play Store ต่อด้วยคดีความเรื่องการผูกขาดที่ Epic เตรียมไว้อยู่แล้ว
บทความนี้จะพาไปสำรวจพฤติกรรมและแนวคิดการผูกขาดของ Apple (และ Google) และการต่อสู้เพื่อการปลดแอกของ Tim Sweeney ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Epic Games ที่ในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐก็เป็นได้
Apple กับการผูกขาดที่ฝังอยู่ในฐานคิดของบริษัท
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องยกความดีความชอบให้ Steve Jobs ที่ผลักดันให้เกิด iPhone ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ จากเดิมที่มีทั้งซื้อแผ่นจากหน้าร้านเอามาลงหรือดาวน์โหลด ให้อยู่ในรูปของการดาวน์โหลดและติดตั้งผ่าน App Store ช่องทางเดียว
การมาถึงของ App Store ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจำหน่ายและติดตั้งซอฟต์แวร์ ให้นักพัฒนาไม่ว่าจะรายเล็กรายใหญ่ สามารถนำเสนอแอปตัวเองไปยังผู้ใช้งานได้แพร่หลายมากขึ้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องความเชื่อใจ (trust) และความปลอดภัย (safety) ในการใช้งานและติดตั้งซอฟต์แวร์รวมถึงเรื่องข้อมูลบัตรเครดิตไปพร้อม ๆ กัน
เดิมการติดตั้งซอฟต์แวร์ลงบนพีซี เราอาจกังวลเรื่องไวรัส เรื่องมัลแวร์หากไม่ใช่ซอฟต์แวร์แท้ที่มาจากบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Adobe หรือ Microsoft แต่ App Store ได้สร้าง trust และ safety ไปพร้อม ๆ กันผ่านนโยบายการควบคุมและตรวจสอบแอปอย่างเข้มงวดของ Apple แบบระบบปิด ทำให้ผู้ใช้งานกล้าที่จะโหลดแอปจากนักพัฒนาที่ไม่รู้จักโดยไม่ต้องกลัวเรื่องไวรัสหรือมัลแวร์
แนวคิดของ Apple เลยอยู่ในรูปแบบของอำนาจรวมศูนย์ การตัดสินถูกผิดทุกอย่าง อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แอปไหนขึ้นสโตร์ ขึ้นอยู่กับ Apple แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งพอเข้าใจได้หากมองในฐานคิดด้านวิศวกรรมและด้านความปลอดภัย
ทว่า Apple เริ่มขยายขอบเขตของการใช้อำนาจรวมศูนย์ออกไป จากการรองรับการจ่ายเงินสมัครสมาชิก (subscription) ผ่านระบบจ่ายเงินของตัวเองในปี 2011 ซึ่งหักค่าธรรมเนียม 30% พร้อมทั้งบังคับให้แอปที่มีระบบสมาชิกต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบจ่ายเงินของ Apple เท่านั้น บังคับไม่ให้แอปที่เป็นพับลิชเชอร์ (เช่น Kindle, Netflix, หรือหนังสือพิมพ์อย่าง WSJ ที่สามารถเสพคอนเทนท์นอกแพลตฟอร์ม Apple ได้) ใส่ระบบจ่ายเงินของตัวเองเข้ามาในแอป รวมถึงห้ามมีสโตร์ซ้อนอยู่ในแอปอีกที แม้แต่ในรูปของการเปิดหน้าเว็บผ่าน webview (ไม่ว่าจะหน้าสโตร์หรือหน้าจ่ายเงิน) ก็ไม่อนุญาตเช่นกัน
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนวิธีคิดของ Apple ว่าจะไม่ยอมให้ใครหน้าไหนก็ตาม มาใช้ฮาร์ดแวร์และแพลตฟอร์ม Apple แบบฟรี ๆ แม้จะเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคหรือนักพัฒนาก็ตาม (แม้กระทั่งช่วยภาคธุรกิจในช่วงโควิดก็ไม่ยอม) (แต่เหตุผล Apple เวลาแก้ตัวมักจะอ้างประโยชน์ของผู้บริโภคหรือนักพัฒนา)
นอกจากนี้ยังมีเอกสารหลักฐานจากการไต่สวนการผูกขาดของสภาคองเกรสล่าสุด เป็นอีเมลภายในของ Apple ช่วงปี 2011 ที่ตอกย้ำฐานคิด "ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดย Apple เพื่อ Apple" ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของ Steve Jobs ที่ยอมรับกลาย ๆ ว่าการบีบให้จ่ายค่าธรรมเนียม 30% จะสร้างความเดือดร้อนให้บริษัทอื่น หรือคำพูดของ Eddy Cue รองประธานอาวุโสฝ่ายซอฟต์แวร์และบริการอินเทอร์เน็ตแสดงความเห็นเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมกรณีการต่ออายุสมาชิก (recurring subscription) ว่าควรเก็บที่ 40% ด้วยซ้ำไปในปีแรก
พฤติกรรมของ Apple ที่ทำลายการแข่งขัน
Apple จึงเปรียบเสมือนการท่าเรือที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถไล่ต้อนคน (แอป) ให้ผ่านเข้าออกแค่ประตูเดียวที่มี Apple เป็น ตม. แถมต้องจ่ายศุลกากร (30%) ให้ Apple ด้วย มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถผ่านเข้าประตูนี้ไปได้ เจ้าของแอปไม่มีทางเลือกอื่นหากจะให้บริการบน iOS/iPadOS นอกจากต้องก้มหน้าทำตามนโยบายของ Apple เท่านั้น
กรณีของ Android และ Play Store อาจมีความคล้ายคลึงกับ App Store ในแง่ของการบังคับช่องทางการจัดจำหน่ายแอปและการคิดเงิน แต่ผู้พัฒนาแอปและผู้ใช้งานยังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง เช่น ไซด์โหลดเกมลงในเครื่องโดยไม่ผ่าน Play Store ด้วยไฟล์ apk หรือการมีสโตร์และระบบคิดเงินแยกอย่าง Galaxy Store ของซัมซุง หรือ Huawei AppGallery
ที่ผ่านมานโยบายของ Google ในแง่การสร้าง trust และ safety ค่อนข้างแตกต่างจาก Apple ดังที่เห็นจากความอะลุ่มอะล่วยหลาย ๆ อย่าง จนเกิดปัญหาแอปมัลแวร์ แอปดักข้อมูลผู้ใช้งานอยู่เต็ม Play Store ทำให้ Google ต้องพยายามไล่แก้ปัญหามาหลายปีและค่อย ๆ บังคับใช้นโยบายแบบปิดตามรอย Apple มากขึ้นด้วยบริการ Google Play Protect ที่เริ่มเข้ามาสแกนแอปในเครื่องของผู้ใช้ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย
การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ Apple ยิ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในช่วงหลัง ดังจะเห็นได้จากกรณีดังๆ เช่น แอป Hey ของ Basecamp, Facebook Gaming หรือ WordPress ที่ล้วนแต่มีปัญหาโดน Apple กีดกัน ผ่านการห้ามไม่ให้อัปเดตแอปของตัวเองบน App Store ทั้งสิ้น แม้ว่าบางครั้งเป็นความผิดพลาดของฝั่ง Apple เองด้วยซ้ำ เช่น กรณีของ WordPress ก็ตาม
ภาพการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและการผูกขาด ที่สร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันยิ่งสะท้อนออกมากยิ่งขึ้นจากท่าทีต่อบริการคลาวด์เกมมิ่งล่าสุดของ Apple ที่บล็อคทั้ง xCloud และ Stadia โดยอ้างการตรวจสอบเนื้อหา ทั้งที่ในความเป็นจริงหากปิดกั้นหรือจำกัดการเข้าถึงสิทธิของแอปหนึ่ง ๆ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยก็พอเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่กับกรณีของคลาวด์เกมมิ่ง มันออกไปในแนว Apple ไม่ได้ประโยชน์เลยไม่อนุญาตมากกว่า บวกกับข่าวลือว่า Apple จะทำบริการคลาวด์เกมมิ่งเอง เลยกีดกันคู่แข่งเอาไว้ตั้งแต่แรก
นอกจากเรื่องการผูกขาดสโตร์แล้ว Apple ยังมีประเด็นเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จากบทบาทที่ทับซ้อนกันในการเป็นทั้งเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการ อย่างกรณีการทำแอป Parental Control ออกมาแล้วแล้วแบนแอปนักพัฒนาภายนอก หรือการทำ Apple Music ส่งผลให้ Spotify ต้องต่อสู้บนสนามที่ไม่เท่าเทียม ทั้งในแง่การพรีโหลดมาในเครื่องของ Apple Music และเรื่องต้นทุนที่มากกว่าของ Spotify จากค่าธรรมเนียม เพราะ Apple เป็นทั้งเจ้าของตลาด (App Store) และคนขายของ (Apple Music) ในขณะที่ Spotify เป็นคนขายของแบบเดียวกัน เป็นคู่แข่งโดยตรง แล้วถูกบีบให้ต้องมาขายในตลาดของคู่แข่ง
เคส Spotify ค่อนข้างฉายภาพความได้เปรียบของ Apple ออกมาอย่างชัดเจน เพราะ Spotify ช่วงปี 2014 ต้องขึ้นค่าบริการจากสมาชิกที่ใช้ iOS เป็น 13 เหรียญจาก 10 เหรียญเพื่อชดเชยค่าธรรมเนียม (ผลักไปให้ผู้บริโภคเพราะตัวเองก็รับต้นทุนไม่ไหว ตอนนั้นยังขาดทุนอยู่) ก่อนที่ Apple Music จะเปิดตัวในปี 2015 ด้วยราคาแค่ 10 เหรียญ ทำให้ Spotify ต้องยกเลิกระบบสมาชิกผ่าน App Store และให้ผู้ใช้จ่ายเงินผ่านเว็บแทน
กรณีนี้ของ Apple คล้าย ๆ กับที่ Amazon โดนโจมตีเรื่องผูกขาดจากการทำแพลตฟอร์มขายของแล้วทำสินค้าแบรนด์ตัวเองมาขาย ซึ่งทำให้ผู้ผลิตสินค้าแบบเดียวกันแข่งขันได้ยาก (ประเทศอินเดียถึงกับออกกฎหมายห้ามอีคอมเมิร์ซขายสินค้าที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย) หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยก็มีกรณีของ 7-11 ที่มีข้อมูลว่าสินค้าชิ้นไหนขายดี ก็ทำสินค้าชนิดเดียวกันแต่เป็นแบรนด์ของตัวเองมาแข่ง
Tim Sweeney กับอุดมการณ์ไม่ยอมเป็นทาส
ก่อนหน้านี้ ผู้พัฒนาแอปที่โดน Apple แบน อาจทำได้แค่ต้องยอมทำตามที่แอปเปิลต้องการ หรือบ่นเล็กๆ น้อยๆ พอให้เป็นข่าว แต่กรณีของ Epic กับเกม Fortnite อาจถือเป็นครั้งแรกที่ Apple ต้องพบเจอกับ "ขบถ" ที่มีกำลังพอสมน้ำสมเนื้อ เพราะ Fortnite เป็นเกมที่มีฐานผู้เล่นจำนวนมหาศาล อีกทั้งพฤติกรรมของ Epic Games เองที่มีนิสัย "ขบถ" มานานแล้ว
แม้ระยะหลังเราอาจเห็น Tim Sweeney ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Epic Games ออกมาพูดถึงเรื่องระบบเปิด หรือโจมตีแอนดรอยด์ว่าเป็นระบบปิดจอมปลอม แต่ซีอีโอ Epic ก็เคยเขียนบทความ op-ed โจมตีไมโครซอฟท์เมื่อปี 2016 มาแล้ว จากกรณีผลักดันโครงการแอป UWP ที่ Sweeney มองว่าเป็นแพลตฟอร์มปิดและผูกขาดช่องทางการจัดจำหน่ายแอป
ภาพจาก Getty Images
ในแง่หนึ่งอาจบอกได้ว่าเขามีอุดมการณ์ มีหลักการต่อต้านระบบปิดและการผูกขาดมานานแล้ว เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารและนักลงทุนของ Lightspeed Venture Partners และ aXiomatic ที่ลงทุนใน Epic ซึ่งบอกไปในทางเดียวกันว่า Tim Sweeney มีแนวคิดเรื่องระบบเปิดและระบบที่เป็นธรรมมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะมีเงินเยอะเหมือนทุกวันนี้ด้วยซ้ำ
Tim Sweeney เคยออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยหลายครั้งว่าเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Steam, Apple, Google เอาเปรียบนักพัฒนา (โดยเฉพาะนักพัฒนาอิสระที่ไม่ใช่บริษัททุนใหญ่) จากการหักค่าธรรมเนียม 30% ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนการพัฒนาเกม แต่กลับสามารถทำเงินได้มากกว่าผู้พัฒนาที่ไม่มีทางเลือก (ช่องทางในการจัดจำหน่ายเกม)
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Sweeney วางตัว Epic Games Store ในภาพลักษณ์ของนายทุนที่ดี มีเมตตา จากการหักค่าธรรมเนียมเพียง 12% เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเก็บค่าธรรมเนียมเท่านี้ (12%) เจ้าของแพลตฟอร์มก็สามารถทำกำไรได้ที่ราว 5-7% แล้ว เมื่อเทียบกับ Steam ที่หักไปถึง 30% (ก่อนที่ Steam จะเริ่มปรับเงื่อนไขลดค่าธรรมเนียมเหลือ 25% ถ้ายอดขายอยู่ที่ 10-50 ล้านเหรียญและ 20% ถ้าเกิน 50 ล้านเหรียญ)
คำถามคือทำไม Tim Sweeney ถึงเพิ่งลุกขึ้นสู้อย่างจริงจังกับทุนผูกขาดอย่าง Apple/Google ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะ Epic เพิ่งมี Fortnite ที่มีจำนวนผู้ใช้มหาศาลและมีอิทธิพลพอจะเอามาใช้เป็นคานงัดกับ Apple/Google ได้
Epic เปิดเผยเองในเอกสารคำฟ้องว่าจำนวนผู้เล่น Fortnite ทั่วโลกขึ้นไปถึง 350 ล้านคนแล้ว ขณะที่อีเวนท์ที่เป็นปรากฎการณ์สำคัญของ Fortnite คือคอนเสิร์ต Travis Scott เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่จัดขึ้นภายในเกม มีผู้เข้าชมรวมกันทุกรอบถึง 28 ล้านคน เพิ่มจากคอนเสิร์ต Marshmello ปีที่แล้วที่มีแค่ 10 ล้านคน ไม่เพียงเท่านั้น Fortnite ก็เป็นเกมทำเงินสูงสุดในปี 2019 อีกด้วย
Fortnite ไม่ได้เป็นเพียงไม้คานที่ Epic เอามาใช้งานกับ Apple/Google เท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ Sweeney ใช้แสดงออกซึ่งอุดมการณ์ของตัวเองด้วย จากการทำ cross-play ให้ตัวเกมเล่นข้ามแพลตฟอร์มกันได้ รวมถึงการเปิด Online Services บนทุกแพลตฟอร์มเกม (ถ้าจะมองว่าการทำแบบนี้ Epic ได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากกว่าเป็นการทำตามอุดมการณ์ล้วน ๆ ก็ไม่ผิด)
ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส
คดีความการฟ้องร้องระหว่าง Epic และ Apple/Google ครั้งนี้ Epic ยืนยันชัดเจนว่าทำเพื่ออุดมการณ์ล้วนๆ เพราะไม่ได้เรียกร้องค่าชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินเลย เทียบตัวเองเป็นเหมือนอัศวินขี่ม้าขาวที่เช้ามาช่วยให้เกิดการปลดแอกจากทุนผูกขาด ซึ่งประโยชน์ไม่ใช่แค่จะเกิดกับ Epic แต่รวมถึงนักพัฒนาอิสระและผู้บริโภคจำนวนมาก
Epic is not seeking monetary compensation from this Court for the injuries it has suffered. Nor is Epic seeking favorable treatment for itself, a single company. Instead, Epic is seeking injunctive relief to allow fair competition in these two key markets that directly affect hundreds of millions of consumers and tens of thousands, if not more, of third-party app developers.
ขณะเดียวกัน Epic ก็ดูจะไม่ได้ยืนอยู่คนเดียวเพราะมีอีกหลายแบรนด์ออกมาสนับสนุน เช่น Xbox และ Spotify ที่เป็นโจทก์ Apple เช่นกัน ไม่รวมว่าคดีความครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งการแฉถึงการใช้อำนาจผูกขาดของ Apple จาก WordPress และ กลุ่มสื่อ DCN ที่แฉเรื่องการลดค่าธรรมเนียม 15% ของ Amazon Prime Video ไปจนถึงเป็นแบบอย่างให้ผู้ที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาสู้ด้วย ไม่ว่าจะกลุ่มสตาร์ทอัพเกาหลีหรือนักพัฒนา Android
แม้ผลการฟ้องร้องครั้งนี้จะคาดเดายาก และน่าจะกินเวลาเป็นปี ๆ แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ Epic สามารถสร้างการตระหนักรับรู้เรื่องการผูกขาดไปยังผู้บริโภค นักพัฒนาหรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐให้ตื่นตัวมากขึ้น
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐอเมริกา มีการสอบสวนการผูกขาดของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาเป็นรูปธรรม กระแส Apple vs Fortnite ครั้งนี้อาจใหญ่พอ จนกดดันภาครัฐให้ออกมาตรการหรือควบคุมการผูกขาดที่ทันสมัยและจริงจังมากขึ้นได้บ้าง (หลังมีผลงานวิชาการชี้ว่าการจัดการการผูกขาดของสหรัฐในปัจจุบัน ด้อยประสิทธิภาพกว่าในช่วงทศวรรษ 1970s) และนี่อาจเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของ Epic มากกว่าหวังผลการตัดสินของศาล
August 30, 2020 at 06:52PM
https://ift.tt/34LZBdJ
“ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” กับการปลดแอกทุนผูกขาดจากกรณี Epic vs Apple/Google - Blognone
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“ไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส” กับการปลดแอกทุนผูกขาดจากกรณี Epic vs Apple/Google - Blognone"
Post a Comment