จุดประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ภายหลังอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 5 ต่อ 4 เห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่2-3 ราคา 22,500 ล้านบาท ตามที่กองทัพเรือเสนอ
จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง ถึงความไม่เหมาะด้วยเงื่อนเวลา และสภาวการณ์ในประเทศ ที่ประชาชนกำลังประสบกับวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ จน “กินไม่อิ่มนอนไม่อุ่น” กันถ้วนหน้า การใช้เงินมหาศาลไปกับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน นำไปสู่ปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” จากกระแสตีกลับไม่เห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้
สุดท้ายงานนี้ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องออกมาเล่นบท “ถอดปลั๊ก” ปมร้อนเรือดำน้ำ เพื่อหวังลดความร้อนแรง ก่อนจะลุกลามบานปลาย โดยบอกว่า
“ถ้าซื้อไม่ได้จะต้องเจรจากับจีนอย่างไร ผมก็ได้เตรียมแผนงานของผมไว้อย่างนี้ ทั้งนี้ เป็นการอนุมัติมาล่วงหน้าแล้ว ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับที่ 2 ที่ 3 อย่างที่ว่าในเรื่องความจำเป็น การต่อเรือไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ ต้องมีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ อะไรที่คุยไว้ จะผ่อนยืดระยะได้บ้างไหม ซึ่งตรงนี้ต้องคุยกัน”
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในชั้นอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ ก็ปั่นป่วนไม่น้อย โดยการ “แลกหมดข้ามรุ่น” ระหว่าง“เสี่ยโจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองประธานอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ กับ “มวยรุ่นใหญ่” อย่าง สุพล ฟองงาม ประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ เรื่อง“บิ๊ก ป.ปลา” ในรัฐบาลโทรศัพท์ล็อบบี้การซื้อเรือดำน้ำ
ตามมาด้วยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มีมติเลื่อนพิจารณาการจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปในลักษณะ “เตะถ่วง” โดยจะมีการเรียกอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ฯ เข้าชี้แจงในวันที่ 31 ส.ค.นี้ พร้อมทั้งมีการประสานกองทัพเรือเพื่อให้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำในกรรมาธิการฯงบชุดใหญ่อีกรอบหลังจากนั้น
จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเกมการยื้อเวลาเพื่อให้งบผ่าน เพราะหากสภาฯพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันตามเวลาที่กำหนด หรือภายในวันที่ 28 ก.ย.นี้ อาจจะทำให้งบประมาณฉบับนี้ในชั้นกรรมาธิการฯตกไป ส่งผลให้ต้องใช้ร่างเดิมของรัฐบาลคือซื้อเรือดำน้ำไปโดยปริยาย
ดังนั้นการ “เตะถ่วง” ไปเรื่อยๆจึงอาจทำให้กระบวนการที่เหลือไม่ทันวันนัดประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วาระที่ 2-3 ) ในวันที่ 16-18ก.ย.นี้
นอกจากนั้นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เกิดขึ้นในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีมติเป็นเอกฉันท์ ในการเสนอต่อรัฐบาลให้กองทัพเรือทบทวน นำวาระจัดซื้อเรือดำน้ำออกไปจากวาระการพิจารณาของ กรรมาธิการฯงบชุดใหญ่ พร้อมขู่ว่าหากกองทัพเรือยังดึงดัน กรรมาธิการฯงบทั้ง 7 คนของพรรคจะโหวตให้ผ่านงบจัดซื้อเรือดำน้ำ
แต่คล้อยหลังจากนั้นไม่กี่วัน “อู๊ดด้า”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับออกมาบอกในทำนองที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถึงขั้นโหวตคว่ำเรือดำน้ำ เพราะตอนนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของ กมธ. เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก
เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมโหนกระแสไม่เอาเรือดำน้ำ และตีชิ่งออก เพื่อหวังกอบกู้ความนิยมของพรรคกลับคืนไว้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะหากพรรคร่วมที่มีเสียงอันดับ 2 แยกทาง “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก็คงไปต่อไม่ได้
นอกจากเรื่องร้อนๆของเรือดำน้ำแล้ว “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก็ยังต้องเจอปัญหาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีแรงกดดันรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลจะพลิกเกม “เล่นตามน้ำ” โดยเตรียมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล ต่อสภาในต้นเดือน ก.ย. นี้
แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความเคลื่อนไหวของ พรรคภูมิใจไทย ที่เคยอยู่ในแถวมาโดยตลอด แต่กลับออกมาโหนกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ในแบบ “ล้ำหน้า” กว่าใครในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการแถลงจุดยืนพร้อมยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง หลังได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ถึงแม้งานนี้จะดูเหมือนว่า “รัฐบาลบิ๊กตู่” กำลังเดินไปสู่ปลายทางการยุบสภา แต่แท้จริงแล้วเกมการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่จบง่ายๆ
เพราะดูจากโจทย์การแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลแล้วจะต้องใช้เวลาพอสมควร ไล่ตั้งแต่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 150 คน ส.ส.เลือกมาอีก 10 คน ส.ว.เลือกมาอีก 10 คน ที่ประชุมอธิการบดีด้านกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ เลือกอีก 20 คน และนักเรียน-นักศึกษา เลือกอีก 10 คน โดยเป็นเลือกกันเอง ซึ่งจะมี กกต. เป็นผู้ดำเนินการกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ และเมื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 240 วัน จากนั้นเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศใช้ต่อไป แต่ถ้าหากว่ารัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ จะต้องทำประชามติ ดังนั้นเท่ากับว่าอาจจะมีการทำประชามติมากกว่า 1 ครั้ง
หากนับนิ้วแล้ว 240 วันก็กินเวลาไปเกือบปี หากรวมขั้นตอนอื่น ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.ร. การเลือกกันเอง การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) และอาจจะต้องทำประชามติอีกครั้งหากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ก็คงกินเวลาเกือบ 2 ปี
แต่ดูแล้วเกมที่จะร้อนระอุที่สุดในการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ หนีไม่พ้น “การปิดสวิตช์ ส.ว.” เนื่องจากตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 การเลือก ส.ส.ร. รวมทั้งการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ล้วนเกี่ยวโยงกับ ส.ว.ทั้งสิ้น ดังนั้นการกระทบกระทั่งไปที่ ส.ว.โดยตรง ตามแนวทางของ พรรคก้าวไกล และแนวทางของ ม็อบเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา เรียกร้องนั้น อาจทำให้เกมแก้รัฐธรรมนูญร้อนระอุมากกว่าครั้งไหนๆ
ขณะที่ พรรคก้าวไกล และ ม็อบเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา ก็คงจะไม่ยอมถอยจากจุดยืนง่ายๆ ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่จะมีการเพิ่มแรงกดดันผ่านการชุมนุมให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นมา เพราะปัจจุบันม็อบจุดติดแล้ว และมีการทยอยจัดแฟลชม็อบหล่อเลี้ยงกระแสให้คุกรุ่นแบบไม่หยุดหย่อน และเริ่มเล่นหนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างล่าสุดกรณี "แอมมี่ The Bottom Blues" สาดสีใส่ตำรวจ ที่ สน.สำราญราษฎร์ กลายเป็นการโหมโรงยั่วยุปูทางเกมร้อนชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 19 ก.ย.
นอกจากนั้นๆยังมีประเด็นร้อนๆจากการทำงานของรัฐบาลให้ใช้เป็นเงื่อนไขเดิมเกมต่อได้ง่าย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการยกระดับการชุมนุมหลังจากนี้คงอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ขณะที่การเมืองในสภาฯ เดือน ก.ย.นี้ ก็มีแววร้อนระอุไม่แพ้กัน ดูจากไทม์ไลน์ประชุมรัฐสภาที่แน่นเอียดอัดแน่นไปด้วยประเด็นร้อนหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่ วันที่ 9 ก.ย. ที่จะมีการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ
วันที่ 10 ก.ย. ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 วันที่ 16-18 ก.ย. ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (วาระที่ 2-3 )
วันที่ 21-22 ก.ย. วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ก่อนจะปิดท้ายด้วยวันที่ 23-24 ก.ย. ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2560
ทั้งศึกซักฟอก เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องงบประมาณ แล้วยังมีการเมืองนอกสภาฯผสมโรง งานนี้ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ คงต้องเล่นเกมแบบมี “ลูกล่อลูกชน” ถึงจะพยุง “รัฐนาวาเรือเหล็ก” ไปต่อได้
แต่ถ้ายังคงดึงดันที่จะใช้งบประมาณท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนไปซื้อเรือดำน้ำ และไม่แยแสกับการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมถอยให้ประชาชนบ้าง การเดินหน้าของเรือเหล็ก ก็คงจะต้องเจอกับคลื่นแรงเสียดทานอีกหลายลูกที่โหมกระหน่ำหวังจมเรือ
หรือสุดท้าย “รัฐนาวาเรือเหล็ก” จะต้องลงไปดำน้ำก่อน “เรือดำน้ำจีน” รัฐบาลเป็นคนเลือกเอง.
August 30, 2020 at 10:00AM
https://ift.tt/3hSRz6c
เรือเหล็กฝ่าทะเลเดือด เกมวัดใจสะเทือนบัลลังก์ - เดลีนีวส์
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เรือเหล็กฝ่าทะเลเดือด เกมวัดใจสะเทือนบัลลังก์ - เดลีนีวส์"
Post a Comment