กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ประกาศทำพิธี "ปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ที่สนามราษฎร" ในวันช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 20 ก.ย. หลังการชุมนุมภายใต้ชื่อ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ถึง 17 ชั่วโมง ที่มีเนื้อหาโจมตีการรัฐประหาร รัฐบาล และกองทัพ อีกทั้งยืนยันข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แกนนำผู้ชุมนุมประกาศบนเวทีท้องสนามหลวงว่า มีผู้ชุมนุมช่วงสูงสุดถึงกว่า 2 แสนคน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่าไม่เกิน 5 หมื่นคน ซึ่งผู้ปราศรัยหลายคนได้กล่าวขอบคุณ "พี่น้องเสื้อแดง" จากทั่วประเทศที่มาร่วมชุมนุม
การปราศรัยที่บริเวณท้องสนามหลวงเริ่มคึกคักตั้งแต่่ช่วงเย็น แล้วมาเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ 22:50 น. โดยแกนนำคนสำคัญสลับกันขึ้นปราศรัย เริ่มจากนายอานนท์ นำภา แล้วตามด้วย น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายภาณุพงศ์จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ปิดท้าย และปิดเวทีเมื่อ 03:00 น.
หมุดใหม่
นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นเวทีปราศรัยประกาศว่า จะนำ "หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2" ทำจากทองเหลือง ขนาด 11 นิ้ว ไปปักลงที่ "สนามราษฎร"
"ย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน 2563 เราจะประกาศร่วมกันว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งผอง ไม่ใช่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เขาหลอกลวง วันนี้คณะราษฎร 2563 ได้ก่อเกิดอย่างเป็นทางการ ที่สนามราษฎรแห่งนี้แล้ว... "หมุดจะถูกปักลง ประกาศคณะราษรฎรฉบับที่ 2 จะถูกอ่านขึ้น พวกเราจะเป็นไท"
นายอานนท์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และอื่น ๆ รวม 8 ข้อหา จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.
บนเวทีปราศรัยกลางดึกวันเสาร์ เขาปรากฏตัวด้วยสภาพผมเกรียน ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมว่าเป็นเพราะไปติดคุกมา 5 วัน หลังถูกศาลถอนประกันเพราะพูดเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
นายอานนท์เล่าด้วยว่า ระหว่างถูกจองจำภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้แวะไปเยี่ยมเขา ก่อนมารู้ที่หลังว่าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง
"ถ้ารู้ล่วงหน้า จะฝากท่านไปถามคนในสถาบันฯ ว่าข้อเสนอ 10 ข้อของน้อง ๆ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ 1 ความฝันของกลุ่มประชาชนปลดแอก สถาบันฯ จะเอาด้วยหรือไม่ เพื่อให้สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง" นายอานนท์กล่าวบนเวที
เขายังปราศรัยตอกย้ำและขยายรายละเอียดของ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ของนักศึกษา ทั้งเรื่องการปรับลดงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันฯ, การนำทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เช่น วัดพระแก้ว กลับมาเป็นของประชาชนทุกคน, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่าผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ โดยให้กลับไปใช้เนื้อหาแบบรัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ว่าหากกษัตริย์ทำผิด ต้องรับโทษ พร้อมถามถึงความเป็นไปได้ในการเปิดไต่สวนสาธารณะ เหตุการณ์สังหารโหดเมื่อ 6 ต.ค. 2519 และเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8
ทนายความวัย 34 ย้ำว่า การปราศรัยของเขาอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยากเห็นบ้านเมืองอยู่ภายใต้ระบอบนี้ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเลย แต่ขณะนี้มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาว่า พฤติกรรมของขบวนการประชาชนรอบนี้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และศาลได้รับคำร้องไว้แล้ว
"ถ้าท่านตัดสินว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปฏิรูปสถาบันฯ มันก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าตัดสินว่าสิ่งที่เราทำเป็นการล้มล้าง มันก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน ปากกาอยู่ที่ท่าน ท่านจะเขียนอนาคตบ้านเมืองไปทางไหน ท่านเลือกเอา" นายอานนท์กล่าว
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา นายอานนท์รู้สึกว่าตัวเองถูกปกครองมาด้วยความกลัว ไม่กล้าพูดถึงสถาบันฯ
"ผมยอมรับว่ากลัว ไม่กล้าคิดฝันถึงบ้านเมืองที่สวยงามกว่านี้ นั่นคือความละอายใจ ทำให้ผมเสียใจ หากเสรีภาพของผมแลกมาด้วยว่าการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ แม้ต้องติดคุกเพื่อยืนยันเรื่องนี้ก็ตาม"
"นำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง"
น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นปราศรัย เมื่อเวลา 00.05 น. โดยอ้างว่าเป็นการ "นำความกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง" ตอกย้ำ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ได้ประกาศในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. น.ส.ปทัสยา ขยายความข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เดิม และเหตุผล ดังนี้
- ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร เพราะ "มนุษย์เท่ากันจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"
- ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนเพราะ "นี่คือวิถีทางที่พระมหากษัตริย์อันทรงเกียรติทั่วโลกจะทรงทำในระบอบประชาธิปไตย"
- ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของกษัตริย์อย่างชัดเจน
- ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก "ราษฎรกำลังอยู่ในภาวะทุกข์ยาก"
- ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก เพราะ "ที่ปรึกษาเดียวที่ทรงสดับรับฟังคือราษฎรของพระองค์"
- ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด เพราะ ผู้บริจาคส่วนหนึ่ง "เป็นทุนผูกขาด"
- ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เพราะ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราษฎรทุกฝ่าย
- ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด เพราะ จะถูกครหาถึงการสร้างภาพลักษณ์
- สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพื่อพิสูจน์ว่าสถาบันฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก เพราะราษฎรอยากได้พระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องประชาธิปไตย จึงขอให้พระองค์ทรงห้ามปรามมิให้ทหารทำการรัฐประหาร เพราะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
"กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"
เวลา 00.45 น. นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ "ไมค์ ระยอง" แกนนำกลุ่ม "เยาวชนภาคตะวันออก" ขึ้นเวทีปราศรัย โดยระบุตอนหนึ่งว่าขออนุญาตรับไม้ต่อจาก นปช. และ "ขอให้ท่านที่เสียสละเพื่อประชาธิปไตยจงนอนตาหลับ และรอดูชัยชนะของพวกเรา" เขายังกล่าวขอบคุณคนเสื้อแดงที่มาเป็น "ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" คอยปกป้องนักเรียน นักศึกษาที่กำลังออกมาพูดถึงประเด็นที่ "หยั่งรากฝังลึกที่สุด" ในสังคมไทย
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ จากกลุ่มดาวดิน สามัญชน กล่าวว่า ขอยืนยันความเชื่อที่ว่า "กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ"
นอกจากนี้เขายังเรียกร้องขอให้ผู้ปกครอง (ผู้มีอำนาจ) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยหนึ่งในข้อเสนอ คือ การยกเลิกการ ม. 112
"ถ้าคุณยังไม่ปรับตัว ไม่เคารพประชาชน จะทำให้เกิดความเลวร้ายเกิดขึ้น สิทธิเสรีภาพไม่ได้เกิดขึ้นจากการร้องขอ มันเกิดมาจากการต่อสู้" เขากล่าว
จตุภัทร์ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี จากฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากแชร์ข่าวของบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติ ร.10 ต่อมาได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ
เขาถูกจับกุม 3 ธ.ค. 2559 และปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ รวมเวลาถูกจองจำนาน 870 วัน หรือ 2 ปี 5 เดือน 7 วัน ซึ่งตามกำหนดเดิมจะครบระยะโทษในวันที่ 19 มิ.ย. 2562
"ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิม"
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวต่อผู้ชุมนุมเวลา 01.20 น. โดยประกาศจัดตั้งให้การชุมนุมครั้งนี้เปรียบเหมือนว่า "สภาประชาชนต่อต้านเผด็จการเพื่อประชาธิปไตย" เพื่ออธิบายเหตุใดถึงมีการลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชน ต่อสู้เพื่ออะไรมีเป้าหมายและวิธีการจัดการอย่างไรต่อไป
เขากล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักคือ การโค่นล้มเผด็จการ ด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพวก ผ่าน 2 แนวทาง คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร และพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกทันที
มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่าน 2 แนวทาง คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน ซึ่งจะต้องร่างใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะหมวดว่าด้วยกษัตริย์ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามแนวทาง 10 ข้อที่แนวร่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ลำดับเหตุการณ์ของวัน
ประชาชนร่วมตัวกันตั้งแต่ 10.00 น. โดยมี น.ส.ปนัสนา และนายภาณุพงศ์ เดินทางมาด้วยรถบรรทุก และปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้ใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่ชุมนุม
จากนั้นผู้ชุมนุมได้ไปรวมตัวกันบริเวณประตู มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งสนามหลวง และกดดันให้เจ้าหน้าที่เปิดให้เข้าไปได้ ขณะที่แกนนำส่งตัวแทนไปเจรจาก่อนจะกลับออกมาบอกผู้ชุมนุมว่า จะเปิดให้เข้าไปได้ในเวลา 13.00 น.
แต่ผู้ชุมนุมยังคงกดดันโดยมีการดันประตูเป็นระยะ ๆ เจ้าหน้าที่จึงเปิดให้เข้าได้ในเวลาประมาณ 12.05 น. จากนั้นแกนนำได้ขึ้นรถปราศรัยที่จอดอยู่บริเวณสนามฟุตบอลเชิญชวนให้ผู้คนมารวมตัวกันในสนามฟุตบอล
เวลาประมาณ 15.00 น. แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุม "เตรียมเคลื่อนพล" ไปสนามหลวง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งเวทีใหญ่บริเวณสนามหลวงในส่วนที่เป็นพื้นปูนฝั่ง มธ.
ขณะที่สนามหลวงเริ่มมีประชาชนมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงครามมาเจรจาให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
ตำรวจแจ้งกับผู้ชุมนุมว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชม.
"แต่การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง...ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความสงบเรียบร้อย และความสะดวกของประชาชนในการดูแลชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบ และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย อาศัยตามอำนาจมาตรา 27 (1) แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมภายใน 1 ชม.นับจากนี้" ตำรวจกล่าว
หลังจากนั้นไม่นาน รถแกนนำใน มธ. ก็ได้นำมวลชนเคลื่อนที่ออกจากมหาวิทยาลัยมุ่งหน้าสนามหลวง โดยมีนายพริษฐ์ ปราศรัยนำขบวน
"วันนี้จะเป็นนาทีประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองไทยในวันพรุ่งนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" นายพริษฐ์กล่าวขณะที่มวลชนกลุ่มหนึ่งพยายามฝ่าแนวกั้นและแผงเหล็กของตำรวจเข้าไปในสนามหลวง
"เราไม่มีอาวุธ ใช้สันติวิธี มามือเปล่า...เราขอเจรจา ถ้าไม่ต้องการให้เกิดการปะทะเกิดขึ้น คุณก็ควรสั่งตำรวจควบคุมฝูงชนถอยไปซะ" พริษฐ์กล่าวก่อนจะบอกให้มวลชนผลักรั้วกั้นและดันแนวตำรวจเพื่อเข้าไปในสนามหลวงได้ในเวลาประมาณ 15.30 น.
150 เมตร เขตห้ามชุมนุม
หลังจากเข้าในสนามหลวงได้แล้ว มวลชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวงที่เป็นพื้นปูนหรือ "พื้นที่แข็ง" ซึ่งทาง กทม.ได้จัดให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. แต่ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นสนามหญ้า ได้มีเจ้าหน้าที่ตั้งแถวพร้อมเหล็กกั้น และมีป้ายข้อความติดไว้ว่า "ระยะ 150 เมตร เขตห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ" ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน
ปักหลักพักค้างที่สนามหลวง
การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 ภายใน มธ. นับจากเคยสร้าง "ปรากฏการณ์ 10 สิงหา" ในการจัดชุมนุมที่ มธ. ศูนย์รังสิต มาแล้ว แต่เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่มีการเชิญชวนประชาชนให้ปักหลักค้างคืน
เวลาประมาณ 17.40 น. พิธีกรบนเวทีประกาศว่าผู้ชุมนุม "แตะหลักแสนคน" แล้ว และกิจกรรมบนเวทีจะมีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยจะมีแกนนำผลัดการขึ้นปราศรัย ก่อนที่จะมีกิจกรรมและเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.)
"คนเสื้อแดง" ร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัย
จากการสังเกตการณ์และพูดคุยของบีบีซีไทย ตั้งแต่ช่วงบ่ายภายใน มธ. พบว่า มีกลุ่มแนวร่วมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ "คนเสื้อแดง" มาร่วมรวมตัวที่ มธ. อย่างน้อย 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ลพบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี บางส่วนสวมเสื้อแดงและมีอุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์คนเสื้อแดงมาใช้ในการชุมนุม
หนึ่งในคนเสื้อแดงจากสำโรง จ.สมุทรปราการ บอกถึงเหตุผลถึงการออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ว่า เห็นด้วยกับทั้งข้อเสนอ 3 ข้อ และ 1 ความฝัน ของกลุ่มประชาชนปลดแอก รวมทั้งข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์
"พวกเราใจเดียวกัน ความคิดเดียวกัน เราเคยสู้มาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ พอเด็กเขาออกมา เราต้องมาช่วยเขา"ส่วนหญิงวัย 73 ปี คนเสื้อแดงเชียงใหม่ ซึ่งเคลื่อนไหวมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 บอกว่าออกมาเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา และคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่เกินปีหน้า"ตอนนี้ทุกคนตาสว่างกันหมดแล้ว ทุกข้อเรียกร้องตรงใจ เราต้องการสิ่งนี้มานานแล้ว"
ช่วงค่ำ นายธานี สะสม แนวร่วม นปช. ได้ขึ้นเวทีสนามหลวงและปราศรัยวิจารณ์การรัฐประหารปี 2557 และการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่าน ส.ว. สรรหา
สำหรับนายธานี เป็น 1 ใน 14 บุคคลที่ถูกออกหมายจับจากการชุมนุมใหญ่ของ "เยาวชนปลดแอก" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.
ครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร
นอกจากนี้ 19 ก.ย. 2563 ยังเป็นวันครบรอบ 14 ปีเต็มการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ด้วย
โดย เฟซบุ๊กของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการโพสต์ ภาพตั้งคำถามว่า "14 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ประเทศไทยก้าวเดินถึงไหน" และภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือของนายนายทักษิณ ซึ่งมีใจความช่วงหนึ่งว่า "เด็กๆ ที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 ในปัจจุบัน 14 ปีที่แล้วเขาได้ยินได้เห็นพ่อแม่เขาคุยกันว่าเขากำลังมีงาน/มีธุรกิจ มีรถ มีบ้าน แต่วันนี้เขาได้ยินว่าเขากำลังตกงาน/ธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำลังเสียรถ เสียบ้าน และตัวเขายังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองถึงจะมีการศึกษาที่ดี เพราะวิธีคิดของเรากำลังถูกเอาเปรียบโดยทุนนิยมโลกที่เรารู้ไม่เท่าทัน เราล้าสมัยในหลายด้าน"
"ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับวิธีคิดใหม่ ทั้งฝ่ายบริหารบ้านเมืองและการเมือง เพราะที่ผ่านมา 14 ปีแล้ว เราไม่ทันโลกจริงๆ มีแต่ถูกเอาเปรียบ โลกไม่เหมือนเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ นโยบายที่เคยใช้ได้ในอดีตปัจจุบันยิ่งใช้ยิ่งแย่ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่แสนดีจะหายากขึ้น ผมหมายถึงการเมืองระหว่างประเทศ" นายทักษิณ ระบุเพิ่มเติม
ในโพสต์ดังกล่าว นายทักษิณไม่ได้กล่าวถึงการชุมนุมของนักศึกษา-ประชาชนที่ มธ.ในวันนี้ ซึ่งเลือกจัดขึ้นในวันครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.
นักวิชาการและนักกิจกรรมการเมืองที่เรียกตัวเองเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" หลายคนเห็นว่า 19 ก.ย. 2549 คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่ลึกซึ้งยาวนานที่สุดในสังคมไทย
เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 14 ปีก่อน ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตนายทักษิณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ไปตลอดกาล แต่ยังเป็นอดีตที่ตามหลอกหลอน พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ถูกตราหน้าว่า "รัฐประหารเสียของ"
September 20, 2020 at 05:30AM
https://ift.tt/3kuxd4i
ชุมนุม 19 กันยา : มวลชนเสื้อแดงร่วมเยาวชนรวมตัวล้นสนามหลวง แกนนำย้ำประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3d8X1Q9
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ชุมนุม 19 กันยา : มวลชนเสื้อแดงร่วมเยาวชนรวมตัวล้นสนามหลวง แกนนำย้ำประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ - บีบีซีไทย"
Post a Comment